ขนมไทยนี้มีมาแต่เมื่อใด
ขนมไทยหัตถกรรมความอร่อยที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อยของความเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทยหลากหลายอย่างให้สืบสานต่อทั้งวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำวัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นมาปรุงแต่งเป็นของหวานได้มากหลายรูปแบบ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะขนมแต่ละชนิดล้วน มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ประณีต วิจิตรบรรจงในรูปลักษณ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการทำที่กลมกลืน ความพิถีพิถัน สีที่ให้ความสวยงาม มีกลิ่นหอม รสชาติของขนมที่ละเมียดละไมชวนให้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนใจเย็น รักสงบ มีฝีมือเชิงศิลปะ
วิถีชีวิตของคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตรที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ ที่สามารถปรุงเป็น ขนม ได้มากมายหลายชนิด เช่น อยากได้ กะทิ ก็เก็บมะพร้าวมาขูดคั้นน้ำกะทิ อยากได้ แป้งก็นำข้าวมาโม่เป็นแป้งทำขนมอร่อยๆ เช่น บัวลอย กินกันเองในครอบครัว
ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า “ทอง” เป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง
ภายในลานสานฝันมีป้ายนิทรรศการกล่าวถึงที่มาของชื่อ “ขนม” และความเป็นมาของขนมไทย สรุปความได้ว่า คำว่า “ขนม” เพี้ยนมาจากคำว่า “เข้าหนม” เห็นได้จากคำสันนิษฐานของพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ที่กล่าวว่า
“ขนม คำเดิมเห็นจะมาจาก เข้าหนม เป็นแน่ เพราะ หนม แปลว่า หวาน คือเข้าที่ผสมกับอ้อย น้ำตาล ให้รสหวานขึ้นแล้วจึงเรียกว่า เข้าหนม ที่เรียกขนมนั้น เป็นคำเพี้ยนไป คำตรงต้องเรียกเข้าหนม”
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งมาจากคำภาษาถิ่นอีสานและภาษาลาวที่ปรากฏคำว่า “หนม” เป็นคำกริยาแปลว่า นวด สันนิษฐานว่าเป็นการกล่าวถึงกริยานวดแป้งเวลาจะนำมาทำขนม ส่วน “เข้า” นั้นก็คือ “ข้าว” ตามลักษณะการเขียนแบบโบราณนั่นเอง เข้าหนม จึงหมายความว่า ข้าวที่นำมานวดหรือบดเป็นแป้งเพื่อทำขนมหวาน
ขนมไทยนี้มีมาแต่สมัยโบราณ หลักฐานชั้นเก่าที่สุดที่ค้นพบคือ วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่กล่าวถึง “ขนมต้ม” อันเป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง ต่อมาในสมัยอยุธยา เริ่มปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงขนมไทยมากขึ้นจากหนังสือ “คำให้การขุนหลวงวัดป่าประดู่ทรงธรรม” ที่กล่าวว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีที่แห่งหนึ่ง ภายในกำแพงเมืองเรียกว่า “ย่านป่าขนม” หมายความว่าเป็นตลาดขายขนมโดยเฉพาะ มีชื่อขนมปรากฎในบันทึกคือ ขนมชะมด ขนมกงเกวียน ขนมภิมถั่ว และขนมสำปะนี
ขนมไทยมาเฟื่องฟูมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวโปรตุเกสนาม ดอญ่า มารี กีมาร์ (Dona Marie Guimar) หรือที่คนอยุธยาในสมัยนั้นรู้จักกันในชื่อ “ท้าวทองกีบม้า” ได้สอนให้ชาววังทำของหวานต่างๆ โดยนำไข่ขาวและไข่แดงมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ จนกลายเป็นขนมไทยยอดนิยมอย่างขนมทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น